หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

Real Steel : เงาสะท้อนจากโลกมายาสู่วิถีทางแห่งการเปลี่ยนแปลงของสังคม





     บริบททางสังคมในยุคสมัยปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมาย การสื่อสารทำให้โลกแคบลงการคมนาคมทำได้สะดวกและประหยัดเวลามากยิ่งขึ้นรวมถึงการรับรู้ข่าวสารจากต่างทวีปก็สามารถรับรู้ได้อย่างฉับไว้ ทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีในปัจจุบันหรือเราสามารถที่จะเรียกช่วงสมัยนี้ว่ายุคโลกาภิวัฒน์ได้อย่างแท้จริง
            การเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ เหล่านี้ล้วนมีจุดประสงค์มาจากการที่มนุษย์ไม่หยุดการพัฒนาในด้านเทคโนโลยีจนนำไปสู่การตอบโจทย์พื้นฐานของการดำรงชีพของมนุษย์ในสังคมซึ่งนั่นก็คือความสะดวกสบายในการดำรงชีวิต หากแต่การที่มนุษย์เปิดพื้นที่ให้ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีเหล่านี้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำรงชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ส่งผลต่อวิถีชีวิตของมนุษย์ในสังคมด้วยเช่นกัน เนื่องจากสิ่งเหล่านี้เมื่อเข้ามามีบทบาทมากขึ้นสิ่งที่จะถูกลดทอนบทบาทลงไปก็มีด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในปัจจุบันการเกิดขึ้นเกมประเภทกีฬาที่สามารถที่จะสัมผัสกับสิ่งนั้นได้โดยที่ไม่ต้องออกแรงให้เสียเหงื่อ แค่เพียงแต่เปิดหน้าจอคอมพิวเตอร์และเปิดโปรแกรมเกมนั้นก็ทำให้สามารถที่จะสัมผัสกับความรู้สึกสนุกได้ หากแต่สิ่งเหล่านี้ทำได้เพียงแค่ทำให้มนุษย์กลุ่มนั้นได้เข้าใกล้ความเป็นจริงในมิติของความรู้สึกเพียงเท่านั้น เปรียบเสมือนกับภาพมายาโดยมีเทคโนโลยีเป็นสื่อกลางในการส่งผ่านความรู้สึกมายังมนุษย์
            สิ่งที่ได้กล่าวมานั้น อาจจะดูเป็นมุมมองหนึ่งสำหรับความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี หรือในยุคโลกาภิวัฒน์ แต่สำหรับในมุมมองของโลกตะวันตกความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสามารถที่จะสร้างสรรค์ให้เกิดความมหัศจรรย์ในอีกหลายๆด้านด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในกรณีของความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีจนนำไปสู่การพัฒนาทางด้านของเครื่องจักร และสิ่งนี้ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะสังคมทุนนิยมที่มีเครื่องจักรเป็นกำลังผลิตหลักต่างจากในอดีตที่กำลังผลิตหลักนั้นได้มาจากแรงงานมนุษย์หรือแรงงานสัตว์ การเปลี่ยนแปลงในสิ่งเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นว่าการผันแปรทางสังคมในช่วงสมัยแห่งความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี นั้นการแทรกซึมลงไปในทุกอนูของสังคม หยั่งรากลึกลงไปในวิถีชีวิตของมนุษย์จนยากที่จะปฏิเสธได้ ทั้งนี้ได้รวมถึงความบันเทิงที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ด้วยเช่นกัน
            Real Steel : ศึกหุ่นเหล็กกำปั้นถล่มปฐพี เป็นภาพยนตร์ที่ถูกกำกับโดย ชอว์น เลวี่ เข้าฉายในประเทศไทยในปลายปีที่ผ่านมา (2554) โดยมีเนื้อหาแอคชั่นผสมรวมกับดราม่า สะท้อนชีวิตของนักกีฬาชกมวยผู้หนึ่ง ซึ่งไม่ได้รับเกียรติ์ยศหรือรางวัลใด ๆ ทั้งสิ้น ชาร์ลี เคนตัน
(ฮิวจ์ แจ็คแมน ) และเมื่อหุ่นเหล็กสูง 8 ฟุตหนัก 2,000 ปอนด์ ได้เข้ายึดครองเวทีที่เขาเคยโลดแล่นมาก่อนจึงทำให้เขาต้องทำทุกวิถีทางในการที่จะเข้ามาต่อสู้อีกครั้ง หากแต่ในครั้งการต่อสู้ได้เปลี่ยนแปลงไปตามช่วงสมัยของกาลเวลา การต่อสู้ของเขาในยุคสมัยนี้ไม่ได้เหมือนกับในอดีต จากเกมส์การต่อสู้ที่เปลี่ยนไปจากหมัดแลกหมัด สู่โลหะปะทะโลหะ จึงทำให้นักมวยที่เป็นมนุษย์ทำได้เพียงแค่ยืนบังคับหุ่นเหล็กอยู่ข้างเวทีเท่านั้นเมื่อเข้าสู่ช่วงปี ค.ศ.2020

            ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคม และวิถีของชีวิตมนุษย์ในช่วงปี ค.ศ.2020 ที่ดำรงอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง การถ่ายทอดของชอว์น เลวี่ ได้แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในอนาคตที่มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้น เกมการกีฬาซึ่งเป็นสิ่งมนุษย์ชาติมีความภาคภูมิใจและเป็นสิ่งที่แสดงความยิ่งใหญ่ของตนเองกลับถูกแทนที่โดยหุ่นเหล็ก หากแต่การเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นได้สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการที่เปลี่ยนไปของมนุษย์ก็เป็นได้ ในกรณีของภาพยนตร์เรื่องนี้ก็คือผู้ชม ซึ่งในกรณีของการชกมวยสำหรับคู่ชกที่เป็นมนุษย์ด้วยกันความบันเทิงของผู้ชมนั้นอาจจะอยู่เพียงแค่การที่นักมวยคนใดคนหนึ่งโดนน็อค หรือถูกซัดจนลงไปหมอบกับเวที นี่คือสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความบันเทิงของผู้ชมสำหรับคู่ชกที่เป็นมนุษย์ด้วยกัน หากแต่ในเนื้อเรื่องของ Real Steel นั้น ชื่อที่แปลเป็นไทยก็ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า ศึกหุ่นเหล็กกำปั้นถล่มปฐพี ที่แสดงให้เห็นภาพของความบ้าคลั่งของผู้ชม โดยสะท้อนให้เห็นถึงการต่อสู้ที่มนุษย์ไม่สามารถที่จะทำได้เนื่องจากมีข้อจำกัดทางด้านกฏหมายและศีลธรรมขวางกั้นอยู่ การที่ชอว์น เลวี่หยิบยกเอาการต่อสู้ของหุ่นเหล็กมาสู้กันนั้น อาจจะสะท้อนให้เห็นถึงจิตใต้สำนึกที่แท้จริงของมนุษย์ ที่แฝงอยู่ในเบื้องลึกของคนทุกคนไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม อีกทั้งภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่เพียงแต่นำเสนอการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวิถีชีวิตของมนุษย์เพียงเท่านั้น หากแต่ยังมีการนำเสนอให้เห็นถึงการปรับตัวของมนุษย์ให้เข้ากับการยอมรับความเป็นจริงที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในกรณีของชาร์ลี เคนตันถึงแม้ว่าลึกๆในจิตใจของเขาก็ยังไม่สามารถที่จะยอมในการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ได้ก็ตามที
            การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวิถีชีวิตของมนุษย์ในภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเพียงแค่ประเด็นหนึ่งเท่านั้น หากแต่ภายใต้การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวิถีชีวิตนั้นได้ทำให้เกิดความสัมพันธ์ในรูปแบบของมนุษย์กับเครื่องจักร ซึ่งสิ่งนี้ก็ได้มีความสอดคล้องกับยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะในกรณีของอุตสาหกรรมที่เครื่องจักรคือปัจจัยสำคัญในการผลิตสินค้า เมื่อไร้ซึ่งเครื่องจักรก็ไม่ต่างอะไรจากขาดสิ่งที่สำคัญที่สุดในกระบวนการผลิตไป สิ่งนี้ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่าเมื่อความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีเข้ามาครอบคลุมทุกวิถีทาง ก็ทำให้เกิดการพึ่งพาสิ่งเหล่านี้จนเคยตัว ถึงแม้ว่าความสัมพันธ์ของมนุษย์ และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะเป็นความสัมพันธ์ในรูปแบบของการเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน แต่เมื่อขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปมนุษย์ก็ไม่ต่างอะไรคนพิการที่พึ่งพาและโหยหาเทคโนโลยีแต่เพียงอย่างเดียว เช่นเดียวกันกับ ชาร์ลี เคนตัน ถ้าเขาไร้ซึ่งอะตอมหุ่นนักมวยของเขา ชาร์ลี เคนตันก็ไม่สามารถที่จะสู้กับ ซูส หรือหุ่นตัวอื่นๆได้ เนื่องจากเขาเป็นเพียงแค่มนุษย์แต่สิ่งที่เขาต้องต่อกรด้วยนั้นคือหุ่นเหล็กสูง 8 ฟุตหนัก 2,000 ปอนด์ ซึ่งเมื่อเทียบกันแล้วเขาไม่มีทางที่จะชนะได้นอกจากเขาต้องมีหุ่นของเขาด้วยเช่นกันซึ่งหุ่นตัวนั้นก็คือ อะตอม
            อะตอมเป็นหุ่นยนต์ที่ถูกพบโดยบังเอิญเมื่อชาร์ลีและแมกซ์ แอบเข้าไปหาอะไหล่เพื่อที่จะนำมาประกอบหุ่น แต่ในช่วงที่กำลังหาอะไหล่อยู่นั้นแมกซ์ได้พลัดตกลงไปในเหวแต่โชคดีที่แขนของอะตอมเกี่ยวแมกซ์เอาไว้ จึงทำให้แมกซ์รอดมาได้จากอุบัติเหตุในครั้งนี้ หลังจากเหตุการณ์นั้นจึงเปรียบเสมือนจุดเริ่มต้นของการต่อสู้ ที่ทอดยาวออกไปที่กำลังรอพวกเขาอยู่ อะตอมเป็นหุ่นยนต์ที่มีความแตกต่างจากหุ่นยนต์ตัวอื่นๆ ในภาพยนตร์เรื่องนี้ซึ่งนั่นเป็นเพราะอะตอมแสดงออกในสิ่งที่มีความคล้ายคลึงกับแมกซ์โดยเฉพาะในด้านของความอ่อนโยนและมีความคล้ายคลึงมนุษย์มากที่สุดในบรรดาหุ่นยนต์ทั้งหมด ซึ่งต่างจากหุ่นตัวอื่นที่แสดงให้เห็นแต่ในมุมมองของการทำลายความรุนแรงและไร้ซึ่งหัวใจ หากแต่อะตอมที่เป็นหุ่นยนต์เหมือนกันแต่กลับถูกเขียนบทให้มีหัวใจ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะมาจากผู้กำกับที่ระบุลงไปในบทว่าอะตอมมีฟังชั่นเงา ซึ่งก็คือการเลียนแบบอากัปกิริยาของมนุษย์ สิ่งนี้จึงทำให้อะตอมเกิดความแตกต่างจากหุ่นยนต์ตัวอื่นในเรื่องอย่างสิ้นเชิง ราวกับผู้กำกับพยายามจะสร้างให้อะตอมเป็นมนุษย์ในร่างของหุ่นยนต์ โดยพยายามที่จะสื่อให้เห็นถึงมุมมองที่มีความแตกต่างออกไปจากหุ่นยนต์ตัวอื่นๆ บางทีอะตอมในภาพยนตร์เรื่องนี้อาจจะถูกแทนค่าด้วยคุณค่าในทางที่ดีของเทคโนโลยีสมัยใหม่ก็เป็นได้
จากหุ่นเหล็กอะตอมซึ่งเป็นตัวละครที่เป็นสัญลักษณ์แห่งความอ่อนโยนและมีความคล้ายคลึงกับมนุษย์โดยเฉพาะในด้านของกิริยาท่าทาง แต่ยังไงก็แล้วแต่หุ่นยนต์ก็ยังเป็นหุ่นยนต์เพราะตัวตนที่แท้จริงที่ส่งผ่านความรู้สึกนั้นก็คือมนุษย์ผู้ที่ซึ่งควบคุมนั่นเอง สิ่งนี้จึงได้สะท้อนให้เห็นอีกมุมมองหนึ่งในภาพยนต์เรื่องนี้ สิ่งนั้นก็คือหุ่นยนต์ที่ชื่อว่า ซูส ซึ่งเจ้าหุ่นตัวนี้มีลักษณะที่แตกต่างจากอะตอมอย่างสิ้นเชิงทั้งในรูปร่างทางด้านกายภาพที่ใหญ่กว่าและบุคลิกที่ดุดัน บวกกับสีของหุ่นตัวนี้นั้นถูกใช้สีดำ ยิ่งเสริมให้หุ่นตัวนี้แสดงนัยยะไปในด้านของความรุนแรงและการทำลายอย่างสิ้นเชิง จากในภาพยนต์เรื่องนี้ซูสได้ถูกออกแบบให้เป็นหุ่นยนต์ที่มีพละกำลังในการต่อสู้ในทุกรูปแบบบวกกับทีมงานที่ดูแลเกี่ยวกับซูสนั้นก็ได้มีเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยในการควบคุมหุ่นยนต์ จึงไม่แปลกเลยที่ซูสจะเป็นสิ่งที่ถูกแทนค่าโดยเฉพาะเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งถ้านำไปเปรียบเทียบกับอะตอม อะตอมเป็นเพียงแค่หุ่นเหล็กที่ถูกขุดขึ้นมาจากลองเศษเหล็กและชาร์ลีกับแมกซ์ก็ไม่มีเครื่องมือที่ล้ำสมัยเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับซูส ฉะนั้นแล้วซูสนอกจากจะถูกแทนค่าว่าเป็นเทคโนโลยีที่มีความทันสมัยสำหรับช่วงเวลานั้นแล้ว ซูสยังถูกหยิบยกและตีค่าว่าเป็นมุมมืดสำหรับเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งเป็นเพราะว่านัยยะของหุ่นตัวนี้ได้ถูกแสดงออกมาในรูปแบบของการทำลายซึ่งไม่ต่างจากอาวุธทางการทหารที่มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อีกทั้งสีดำที่ถูกทาบนตัวซูสมีความหมายไปในทางที่มืดมนไร้ซึ่งแสงสว่าง และเมื่อนำความหมายที่ถูกตีค่าทั้งสองอย่างมารวมด้วยกัน สิ่งที่ได้ก็คือการเข้าสู่ยุคมืดที่มีแต่การทำลายและความรุนแรง แต่ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดเหตุการณ์ที่รุนแรงหรือการนองเลือดขึ้นแต่ประการใด หากแต่ความรุนแรงและการทำลายนั้นอาจจะเกิดขึ้นในด้านของทุนนิยมที่มีการแข่งขันในทางธุรกิจกันอย่างรุนแรง และการทำลายนั้นอาจจะเกิดขึ้นในรูปแบบของการทำลายวัฒนธรรมอันดีงามเนื่องจากการเข้าครอบงำทางเทคโนโลยี จนทำให้คนในสังคมหลงระเริงไปกับความทันสมัยของเทคโนโลยีจนลืมประเพณีการสืบทอดวัฒนธรรมอันดีงามไปสู่รุ่นต่อไป


ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีอาจเปรียบเสมือนกับดาบสองคมถ้าเราใช้มันให้เกิดประโยชน์สูงสุดและใช้อย่างถูกวิธีผลกระทบที่ตามมาอาจจะไม่รุนแรงเท่าใดนักหากแต่เราใช้อย่างผิดวิธีและมุ่งแต่โหยหาเทคโนโลยีสมัยใหม่แต่เพียงอย่างเดียว ก็ไม่ต่างอะไรจากการตกอยู่ภายใต้กระแสบริโภคนิยมจนไม่ลืมหูลืมตา มัวแต่วิ่งตามความทันสมัยโดยที่ไม่รู้เลยว่าสิ่งเหล่านั้นมันจะหยุดอยู่ที่ใดและเมื่อไหร่ การเปลี่ยนแปลงทางสังคมอันเกิดจากความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีในด้านหนึ่ง อาจจะทำให้สังคมเกิดความเจริญก้าวหน้าในรูปแบบของความเป็นรูปธรรม แต่ในด้านของนามธรรมอาจจะถูกลอนทอนให้ด้อยค่าลงเพราะความไม่รู้จักพอของตัวมนุษย์เอง ชาร์ ลี เคนตัน แมกซ์ และอะตอมได้แสดงให้เห็นแล้วในภาพยนต์เรื่องนี้ว่าไม่จำเป็นต้องมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยแต่ก็สามารถที่จะดำรงชีวิตและประสบความสำเร็จได้ในสังคมฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่างล้วนขึ้นอยู่กับน้ำมือของมนุษย์จะดีที่สุดหรือต่ำที่สุดมนุษย์เท่านั้นที่เป็นผู้กำหนดทิศทางของสิ่งเหล่านั้นให้ดำเนินต่อไปในอนาคต